Microsoft ร่วมกับ IDC เผยผลสำรวจชี้ทางฝ่าวิกฤตโควิด ชูคลาวด์มาตรฐานโลกเป็นกุญแจสำคัญในการพลิกธุรกิจ

  • ชูสององค์กรไทย ซีพี ออลล์ และ เอเชีย แค็บ เป็นตัวอย่างแนวคิดด้านวัฒนธรรมเพื่อนวัตกรรมและการปรับทิศทางเพื่อรับมือกับทุกความเปลี่ยนแปลง
  • ผลสำรวจพบว่าโควิด-19 เป็นปัจจัยผลักดันให้ธุรกิจไทยยกระดับการสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้น 12% โดยเป็นครั้งแรกที่มีองค์กรไทยจัดอยู่ในระดับผู้นำ
  • ภาคธุรกิจไทยต้องเร่งเครื่องปรับตัว ยังตามหลังผู้นำในภูมิภาคถึง 3 ปี ในด้านสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัล
  • ผู้นำองค์กรไทยชูเทคโนโลยีและข้อมูลเป็นสองมิติสำคัญที่จะลงทุนพัฒนาในปีหน้า


กรุงเทพฯ  18 ธันวาคม 2563 – ผลสำรวจจากไมโครซอฟท์และไอดีซีเน้นย้ำความสำคัญของ “วัฒนธรรมนวัตกรรม” ในองค์กรยุคดิจิทัล โดยเผยว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทำให้ภาคธุรกิจไทยเร่งยกระดับการสร้างสรรค์นวัตกรรมภายในองค์กรขึ้นราว 12% พร้อมวางแผนชัดเจนสำหรับการลงทุนพัฒนาศักยภาพในปีหน้า โดยกว่า 72% ขององค์กรไทยที่เข้าร่วมการสำรวจ มองว่าการสร้างสรรค์นวัตกรรมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการฟื้นฟูธุรกิจให้เปลี่ยนแปลง ปรับตัว และกลับมาเติบโตอีกครั้ง ท่ามกลางผลกระทบและแรงกดดันจากการระบาดของโรค
โควิด-19

ทั้งนี้ ทัศนคติเกี่ยวกับนวัตกรรมในภาคธุรกิจไทยยังคงตามหลังมุมมองขององค์กรระดับแนวหน้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่กว่า 98% เชื่อว่านวัตกรรมเป็นหัวใจสำคัญในการฝ่าสถานการณ์วิกฤต

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ปัจจุบัน นวัตกรรมไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกของธุรกิจอีกต่อไป แต่นับเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกองค์กรขาดไม่ได้ โดยสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ทั่วโลกได้กลายเป็นปัจจัยเร่งให้ภาคธุรกิจต้องหันมาสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จากเดิมอาจต้องใช้เวลาหลายปี ให้เสร็จสิ้นและพร้อมขับเคลื่อนธุรกิจได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน ภาคธุรกิจไทยเองได้แสดงออกถึงความตื่นตัวในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังต้องเร่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากผลสำรวจที่ระบุว่าธุรกิจไทยจะมีสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลอยู่ที่ 48% ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเทียบเท่ากับสัดส่วนรายได้ในปัจจุบันขององค์กรชั้นนำในเอเชียแปซิฟิก จึงเท่ากับว่าองค์กรไทยในภาพรวมยังตามหลังผู้นำของภูมิภาคนี้อยู่ 3 ปีเต็มนั่นเอง”

ผลสำรวจดังกล่าวจัดทำขึ้นจากงานวิจัยในหัวข้อ “วัฒนธรรมนวัตกรรม – รากฐานสู่การปรับตัวและฟื้นฟูของธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” (Culture of Innovation: Foundation for business resilience and economic recovery in Asia Pacific) โดยไมโครซอฟท์และไอดีซี เอเชีย แปซิฟิก ซึ่งครอบคลุมการสำรวจความคิดเห็นและมุมมองของผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจรวม 3,312 คน และพนักงาน 3,495 คนในภาคเอกชนจาก 15 ประเทศทั่วเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงผู้บริหาร 200 คน และพนักงานอีก 237 คนในประเทศไทย โดยจัดทำการสำรวจขึ้นในช่วง 6 เดือนก่อนและหลังการระบาดของโรคโควิด-19

วัดระดับความพร้อมธุรกิจไทย บนเส้นทางสู่วัฒนธรรมเพื่อนวัตกรรม

รายงานฉบับนี้ได้นำเสนอแนวคิดด้านโครงสร้างของวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรม โดยแบ่งการประเมินศักยภาพของแต่ละองค์กรออกเป็น 4 ด้านหลัก ๆ ได้แก่ บุคลากร กระบวนการทำงาน ข้อมูล และเทคโนโลยี เมื่อทำการประเมินในทั้ง 4 ด้านแล้ว จึงนำแต่ละองค์กรมาจัดอยู่ใน 4 กลุ่มตามระดับความพร้อม ได้แก่ กลุ่มองค์กรแบบเก่า (สเตจที่ 1 ในการพัฒนา) กลุ่มมือใหม่ด้านนวัตกรรม (สเตจ 2) กลุ่มผู้ปรับตัว (สเตจ 3) และกลุ่มผู้นำ (สเตจ 4)


มร. ไมเคิล อะราเน็ตตา รองประธานบริหาร ไอดีซี ไฟแนนเชียล อินไซต์ เผยว่า “ผลสำรวจพบว่าธุรกิจในประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดและมุมมองในการทำงานไปไม่น้อยในช่วง 6 เดือนท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยองค์กรไทยราว 40% มองว่าโควิด-19 มาพร้อมกับโอกาสในการผลักดันรายได้ให้เติบโตได้เร็วกว่าคู่แข่งจนนำไปสู่ส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้น องค์กรที่มีมุมมองเชิงบวก เล็งเห็นโอกาสท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ จะสามารถพัฒนาศักยภาพได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรมนวัตกรรม”

“ในช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 มีธุรกิจไทยถึง 59% ที่จัดอยู่ในกลุ่มองค์กรแบบเก่า ก่อนจะลดลงเหลือ 48% ในช่วงหลังการระบาด ขณะที่สัดส่วนขององค์กรในกลุ่มมือใหม่ เพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 47% และจากเดิมที่ไม่มีธุรกิจไทยอยู่ในกลุ่มผู้นำเลย เพิ่มขึ้นเป็น 2% ในช่วงหลังการระบาด เมื่อสรุปในภาพรวมแล้ว พบว่าธุรกิจในประเทศไทยมีการยกระดับวัฒนธรรมองค์กรด้านนวัตกรรมขึ้นราว 12%”

องค์กรในกลุ่มผู้นำด้านวัฒนธรรมเพื่อนวัตกรรมมีมุมมองเชิงธุรกิจที่แตกต่างจากกลุ่มอื่นอยู่ไม่น้อย โดย 1 ใน 3 ของบริษัทระดับผู้นำในภูมิภาคนี้มั่นใจว่าจะสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดของบริษัทได้ แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายจากโควิด-19 ขณะที่ราว 45% เชื่อว่าธุรกิจจะฟื้นตัวจากผลกระทบของโรคระบาดนี้ได้ในเวลาไม่เกิน 6 เดือน ส่วนแนวโน้มในอนาคตนั้น พบว่าองค์กรในไทยเริ่มมีแผนที่จะพิจารณาโมเดลการทำธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของกลยุทธ์ในองค์กรระดับผู้นำทั่วภูมิภาค โดยเฉพาะหลังการระบาดของโรคโควิด-19


“องค์กรในกลุ่มผู้นำกว่า 85.4% เชื่อว่าโมเดลธุรกิจของพวกเขาจะต้องเปลี่ยนแปลงภายใน 10 ปีข้างหน้า โดยในจำนวนนี้ กว่า 45.4% มองว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนธุรกิจภายในไม่เกิน 5 ปี มุมมองนี้นับว่ายังกว้างไกลกว่าองค์กรในประเทศไทยอยู่พอสมควร จากข้อมูลที่ระบุว่ามีธุรกิจไทยราว 64% ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจภายใน 10 ปี และ 27% ภายในไม่เกิน 5 ปี ขณะเดียวกัน องค์กรไทยถึง 25% ยังค่อนข้างล่าช้าในการพิจารณาถึงโมเดลธุรกิจในอนาคต เทียบกับเพียง 7.7% ในกลุ่มผู้นำของเอเชียแปซิฟิก” นายอะราเน็ตตาชี้

ชูตัวอย่างจากสองธุรกิจไทยต่างขนาด ต่างเส้นทาง บนถนนสายนวัตกรรมสู่ความสำเร็จ

หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจในการนำนวัตกรรมมารับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป คือกรณีของบริษัท เอเชีย แค็บ จำกัด ผู้ให้บริการแท็กซี่แบบครบวงจรรายแรกของประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “แค็บบ์” (Cabb) ซึ่งเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดบริการขนส่งสาธารณะที่มีนวัตกรรมเป็นรากฐานสำคัญของทั้งองค์กร และยังมีศักยภาพรอบด้าน นับตั้งแต่การผลิตรถยนต์ของตนเองไปจนถึงแอปพลิเคชันและเครื่องมือต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นโดยทีมพัฒนาของไทย บนแพลตฟอร์มคลาวด์ของไมโครซอฟท์

ผศ.ดร. ศรายุทธ เรืองสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย แค็บ จำกัด เผยว่า “หัวใจหลักในกลยุทธ์ของเอเชีย แค็บ คือการสร้างโมเดลธุรกิจและออกแบบบริการให้ครอบคลุมทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบุคลากรในมือ โดยมีข้อมูลเป็นองค์ประกอบสำคัญที่เชื่อมโยงทั้งสามส่วนให้ทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว นับตั้งแต่ข้อมูลสถิติการเรียกใช้บริการของลูกค้าในแต่ละเวลา ซึ่งเรานำมากำหนดการเพิ่ม-ลดทรัพยากรคลาวด์บนแพลตฟอร์ม Microsoft Azure ให้คุ้มค่าที่สุดตามการใช้งานจริง ไปจนถึงการพัฒนาระบบจัดการบริการที่ตอบสนองกับข้อมูลในหลายทิศทางกว่า ไม่ได้เพียงเปิดให้ผู้ขับขี่เลือกรับงานจากผู้โดยสารเท่านั้น แต่ทางศูนย์ควบคุมยังสามารถช่วยจับคู่ผู้ขับขี่กับผู้โดยสารได้ด้วย เพื่อความรวดเร็วและความพึงพอใจสูงสุดของทั้งสองฝ่าย”

นอกจากแอปพลิเคชันสำหรับผู้โดยสารและผู้ขับขี่แล้ว โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีของแค็บยังรวมถึงระบบศูนย์ควบคุมแบบครบวงจร พร้อมด้วยระบบพื้นฐานสำหรับรองรับหน้าเว็บไซต์และศูนย์บริการลูกค้า ขณะที่ Office 365 ถูกนำมารองรับการทำงานภายในองค์กรแบบวันต่อวันของพนักงาน ส่วนในตัวรถแท็กซี่แต่ละคัน ยังมีการติดตั้งระบบกล้องรักษาความปลอดภัยที่บันทึกเฉพาะภาพนิ่งเพื่อความเป็นส่วนตัวของลูกค้า การยืนยันตัวตนผู้ขับขี่ด้วยบัตรประชาชน ติดตามตำแหน่งรถแท็กซี่ทุกคันด้วย GPS และปุ่มขอความช่วยเหลือฉุกเฉินที่ส่งสัญญาณเตือนมายังทั้งห้องควบคุมของแค็บบ์เองและเจ้าหน้าที่จากกรมขนส่งทางบก ขณะที่ผู้ขับขี่ทุกคนได้รับการฝึกอบรมในระดับมืออาชีพเพื่อมาตรฐานการบริการที่ดีเยี่ยม

อีกหนึ่งองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการปรับตัวสู่วิถีการทำงานแบบดิจิทัลอย่างรวดเร็ว คือบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่เลือกนำเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์มายกระดับการทำงาน ติดต่อสื่อสาร และประสานงานภายในองค์กรอย่างทั่วถึง ตอบโจทย์ทั้งในด้านการเสริมศักยภาพขององค์กรในภาพรวมและการตอบสนองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากโรคโควิด-19

นายวิวัฒน์ พงษ์ฤทธิ์ศักดา รองกรรมการผู้จัดการ สายงานสารสนเทศ บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) และ Chief Operating Officer บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “แผนงานของเราคือการนำคลาวด์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในแต่ละวันสำหรับพนักงานมากกว่า 50,000 คน โดยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ภายในซีพี ออลล์ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริษัทอื่น ๆ ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ด้วย โดยนอกจากการติดต่อประสานงานและทำงานเป็นทีมที่ราบรื่น รวดเร็วขึ้นด้วย Microsoft Teams แล้ว เรายังเริ่มนำ Power Platform มาใช้พัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ ที่ยกระดับระบบงานภายในให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีการสนับสนุนให้ทุกแผนกและหน่วยงานคิดหาวิธีนำไปประยุกต์ใช้ในแนวทางที่ตรงกับเป้าหมายของตนเองและองค์กรในภาพรวม”

ทั้งนี้ ซีพี ออลล์ และบริษัทอื่น ๆ ในเครือเจริญโภคภัณฑ์จะปรับระบบงานขึ้นสู่คลาวด์อย่างเต็มตัวในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 โดยมีไมโครซอฟท์ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด รวมถึงการสำรวจความเป็นไปได้ที่จะนำนวัตกรรม AI เข้ามาปรับใช้ในองค์กรด้วย

สูตรสำเร็จ “4x4” ปรับวัฒนธรรม พลิกกลยุทธ์ ขับเคลื่อนนวัตกรรมให้ทั่วถึง

จากการประเมินศักยภาพของภาคธุรกิจไทยในด้านวัฒนธรรมเพื่อนวัตกรรม พบว่าองค์กรไทยมีความพร้อมน้อยที่สุดในด้านบุคลากร ด้วยคะแนนเฉลี่ย 1.56 และเทคโนโลยี ที่คะแนนเฉลี่ย 1.60 จากคะแนนเต็ม 4.0 โดยเมื่อพิจารณาจากแผนงานตลอด 12 เดือนข้างหน้า ปรากฎว่าองค์กรไทยมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีเป็นอันดับแรกสูงสุดที่ 35.0% ตามมาด้วยด้านข้อมูล (26.0%) บุคลากร (25.0%) และกระบวนการทำงาน (14.0%)


“ผลสำรวจในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ายังมีธุรกิจจำนวนไม่น้อยในประเทศไทยที่เพิ่งจะเริ่มต้นคำนึงถึงการสร้างนวัตกรรมภายในองค์กร” นายธนวัฒน์กล่าวเสริม “แต่ขณะเดียวกัน เราก็ได้เห็นสัญญาณที่ดีในภาพรวมว่าองค์กรไทยเข้าใจในจุดแข็ง-จุดอ่อนของตนเองในกรอบของ 4 มิตินี้เป็นอย่างดี และมีแผนที่จะลงทุนเพื่อปรับปรุงและพัฒนาศักยภาพต่อไป แน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและศักยภาพขององค์กรเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องอาศัยแนวทางที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดผลอย่างชัดเจน”

ในโอกาสนี้ ไมโครซอฟท์จึงได้นำเสนอสูตรสำเร็จ “4x4” เพื่อการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมนวัตกรรมในองค์กร ทั้งในด้านบุคลากร กระบวนการทำงาน ข้อมูล และเทคโนโลยี ดังนี้:



บุคลากร
สนับสนุนแนวคิดที่นอกกรอบอย่างสร้างสรรค์
สร้างแรงจูงใจด้วยการประเมินผลงานบุคลากรในด้านนวัตกรรม
สร้างความหลากหลายในหมู่พนักงานด้วยบุคลากรที่มีความสามารถ มุมมอง วัย และปูมหลังแตกต่างกัน
เปิดรับทักษะใหม่ ๆ เชิงดิจิทัล และความร่วมมือกับองค์กรภายนอกเพื่อยกระดับศักยภาพขององค์กร

กระบวนการทำงาน
ปรับเปลี่ยนระบบงานสำคัญให้กลายเป็นกระบวนการอัตโนมัติอย่างเหมาะสม
ผสมผสานกระบวนการด้านนวัตกรรมกับการทำงานวันต่อวันให้รวมกันเป็นหนึ่ง
วางโครงสร้างให้ระบบและขั้นตอนการทำงานเอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม
กระจายความรู้ความเข้าใจด้านนวัตกรรมให้ทั่วถึงทั้งองค์กร

ข้อมูล
ยกระดับผลิตภัณฑ์ บริการ และกระบวนการตัดสินใจภายในองค์กรด้วยข้อมูล
พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลที่มีพื้นฐานอยู่บนการใช้ข้อมูลแบบบเรียลไทม์
ตรวจสอบความแม่นยำ ความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัยของข้อมูลให้ทั่วถึง
ปรับแต่งประสบการณ์ให้ตรงกับความต้องการเฉพาะตัวของลูกค้าแต่ละคนด้วยข้อมูล

เทคโนโลยี
ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
ขยับขยายระบบงานที่มีอยู่เดิมขึ้นสู่คลาวด์
ผนึกรวมโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีขององค์กรให้เป็นหนึ่งเดียว
ประเมินศักยภาพด้านนวัตกรรม ในรูปของผลตอบแทนจากการลงทุนด้านเทคโนโลยี

“ทุกองค์กรควรมีแนวทางที่ชัดเจนให้บุคลากรสามารถร่วมกันคิด ค้นคว้า และทำงานให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง เป้าหมายสูงสุดของไมโครซอฟท์คือการช่วยให้ทุกองค์กรในประเทศไทยมีความคล่องตัว สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ฟื้นฟูและเติบโตได้แม้ในสภาวะวิกฤต โดยเราพร้อมที่จะร่วมงานกับทุกภาคส่วนเพื่อก้าวสู่เป้าหมายนี้ไปด้วยกัน” นายธนวัฒน์กล่าวปิดท้าย

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น